กระบวนการขับรถให้ปลอดภัย SIPDE

กระบวนการขับรถให้ปลอดภัย SIPDE

ท่านผู้อ่านที่เคยได้อ่านบทความของผมฉบับที่แล้วที่ผมเขียนเรื่อง การบริหารจัดการความเสี่ยงในการขับขี่ Risk Management in Driving คงยังจะพอจำกระบวนการ SIPDE ได้บ้างนะครับ ที่จริงผมตั้งใจจะเขียนบทความฉบับนี้ไว้นานแล้วแต่ก็หาเวลาไม่ได้สักทีเพราะการเขียนต้องใช้เวลา สมาธิและมันก็เป็นทักษะขั้นสูงที่ผมเองยังมีประสบการณ์น้อยอยู่ ผมดีใจที่มีผู้อ่านหลายท่านต้องการให้ผมเขียนบทความต่อเพื่อเผยแพร่เรื่องการขับขี่ปลอดภัยเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์และผมก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเขียนตราบใดที่ยังมีผู้อ่านและเป็นประโยชน์แก่สังคมบ้าง

ผมขอท้าวความกระบวนการ SIPDE สักนิดนะครับเพื่อทำความเข้าใจกันเสียก่อนเพราะบางท่านอาจจะลืม ในบทความฉบับที่แล้วผมได้กล่าวถึงความเสี่ยงในการขับรถอยู่ 2 ประเด็นคือ ความเร็ว (Speed) และเหตุที่ไม่คาดคิด (Surprise) โดยกระบวนการ SIPDE นั้นเป็นกระบวนการที่ผมแนะนำให้ผู้ขับขี่นำไปใช้เพื่อควบคุมปัจจัย “เหตุที่ไม่คาดคิด (Surprise)” เพื่อให้ความเสี่ยงในการขับขี่นั้นลดลง กระบวนการ SIPDE ประกอบด้วย 1) S = Search หรือการมอง (ค้นหา) 2) I = Identify หรือการวิเคราะห์ 3) P = Predict หรือการคาดการณ์ 4) D= Decide หรือการตัดสินใจ 5) E=Execute หรือการลงมือปฏิบัติ โดยเป็นกระบวนการที่คณะวิทยากรของ เซฟ ไดรฟเวอร์ฯ ได้สอนและฝึกอบรมให้กับนักเรียนที่เป็นผู้ขับขี่ทั้งมือใหม่และระดับมืออาชีพ เป็นกระบวนการที่เรียบเรียงอย่างเป็นขั้นตอน เป็นลำดับ เข้าใจง่ายและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับผู้ขับขี่ทุกระดับ

นักขับขี่ที่มีทักษะขั้นสูง Advanced Driver จะสามารถใช้กระบวนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิบัติตามขั้นตอนได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่นและเป็นนิสัย ที่สำคัญความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของนักขับขี่เหล่านี้จะต่ำหรือ Low Risk Driving ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการประยุกต์ใช้กระบวนการ SIPDE
เนื่องจากเนื้อหาสาระของกระบวนการนี้ค่อนข้างยาว ในบทความฉบับนี้ผมจะขออธิบายเฉพาะกระบวนการ S=Search หรือการมอง (ค้นหา) เท่านั้น ส่วนอื่นๆ ที่เหลือผมจะทยอยเขียนและเผยแพร่กับท่านในโอกาสต่อไป

กระบวนการ S= Search หรือการมองโดยกวาดสายตาเพื่อค้นหาสิ่งที่จะเป็นอันตราย (Hazard) คือการใช้ประสาททางด้านสายตาหรือการมองให้เกิดประสิทธิภาพเพราะเราใช้ประสาทการมองในการขับรถถึง 90% ความจริงก็คือผู้ขับขี่บางคนอาจใช้สายตาในขณะขับขี่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจนหลายครั้งต้องทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกือบเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายครั้งเรามักจะได้ยินผู้ขับขี่พูดว่ามองไม่เห็น อันนี้ขอยกเว้นผู้ขับขี่ที่มีปัญหาด้านสายตาครับ ภายใต้สมมติฐานนี้เราถือว่าผู้ขับขี่ทุกคนไม่มีปัญหาด้านการมองเห็น

การใช้สายตามองขณะขับรถหลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องง่ายเพราะทุกคนก็มองกันอยู่แล้วและมันก็เป็นทักษะพื้นฐานของนักขับขี่ อันนี้ผมเห็นด้วยเพราะนักขับขี่ทุกคนต้องมองเพราะถ้าไม่มองรถก็คงชนกันระนาวไปแล้ว แต่การมองให้เกิดประสิทธิภาพนั้นมันไม่ได้เกิดกับผู้ขับขี่ทุกคนครับ กระบวนการนี้มันเป็นมากกว่าการมองแบบธรรมดาทั่วไปแต่มองหาโดยมีวัตถุประสงค์ มองหาสิ่งที่จะเป็นอันตรายที่จะเข้ามาในช่องทางเดินรถเรา (Hazard) มองเพื่อให้เห็นและเข้าใจในสิ่งนั้นๆ แต่ขอเตือนว่าอย่ามองนานและอย่าเพ่งมองครับ การมองเพื่อให้เกิดการรับรู้ (Perception) บนท้องถนนอย่าใช้เวลานานเพราะรถเราวิ่งด้วยความเร็วฉะนั้นเวลาแค่เสี้ยววินาทีก็ทำให้เกิดอะไรขึ้นได้ ยกตัวอย่างการมองของผู้ขับขี่จากประสบการณ์ของผมตอนสอนนักเรียนโดยให้มองวัตถุสิ่งเดียวกันแต่ได้คำตอบไม่เหมือนกัน เช่น นักเรียน ก. มองเห็นรถจอดอยู่ซ้ายมือ นักเรียน ข. ก็มองเห็นรถที่อยู่ซ้ายมือเช่นกันแต่เขาเห็นสัญญาณไฟถอยของรถคันนั้นด้วย แค่นี้ก็เห็นความแตกต่างแล้วว่าทักษะการมองของนักเรียนทั้งสองคนนี้ต่างกันอย่างไร จากตัวอย่างนักเรียน ข. จะได้ข้อมูลจากการมองที่มากกว่าฉะนั้นข้อมูลที่ได้ก็จะถูกนำไปสู่ขั้นตอนถัดไปซึ่งจะทำให้นักเรียน ข. คาดการณ์และตัดสินใจได้ดีกว่าอันจะนำไปสู่การควบคุมรถได้ปลอดภัยกว่า

นักขับขี่ที่มีทักษะการมองที่ดีย่อมได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อนำไปประกอบกับขั้นตอนอื่นๆ ที่เหลือลำดับถัดไป แล้วทักษะการมองที่ว่านั้นมันเป็นอย่างไร แล้วต้องทำอย่างไรหลายท่านคงสงสัย ถ้าผมบอกว่านักขับขี่ที่มีทักษะการมองที่ดีนั้นเขาสามารถมองเห็นรอบตัว 360 องศา ซึ่งหลายท่านอาจไม่เชื่อแล้วเขาทำกันอย่างไรให้เห็น 360 องศง ลำพังแค่มองข้างหน้าแค่ 180 องศาก็เหนื่อยแล้ว มันทำได้จริงหรอ ผมขอยืนยันว่าทำได้ครับและมันก็เป็นสิ่งที่นักขับขี่จะต้องทำและฝึกฝน ตามหลักการของเทคนิคการขับขี่ปลอดภัยขั้นสูงเขาบอกว่าผู้ขับขี่ต้องมองภาพโดยรอบด้านให้ได้ 360 องศา โดยเราจะแบ่งโซนการมองรอบรถไว้ 6 โซน ดังภาพด้านล่าง

ภาพ: พื้นที่รอบรถ 6 โซน

 

โซน A สามารถมองเห็นจากสายตาเวลาเรามองตรงไปข้างหน้าแบบปกติซึ่งมองได้ไม่ยากแต่ภาพที่คุณเห็นนั้นจะไม่ชัดเจนเพราะถือว่าอยู่นอกบริเวณ 10 องศาของระยะที่สายตาเราจะมองเห็นชัดเจนที่สุด (Central Vision) อันนี้ผมขอให้ท่านลองไปศึกษาต่อนะครับ ฉะนั้นแล้วโซน A จะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อคุณเหลือบตาไปมองและมันเป็นโซนที่เราต้องให้ความสำคัญมากๆ เลยทีเดียวเพราะอาจมีคนหรือสัตว์โผล่เข้ามาในโซนนี้หรือแม้แต่รถคันที่วิ่งอยู่โซนนี้อาจเปลี่ยนเลนเข้ามาเบียดหรือตัดหน้าเราได้ และอาจเป็นโซนที่เราอาจต้องเลือกใช้เมื่อโซน B ถูกปิดหรือสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงในโซน B เช่นเดียวกับโซน C ที่เราจะต้องเหลือบตามองและระมัดระวังเช่นกัน

ภาพ: ระยะการมอง

 

โซน B เป็นโซนที่เรามองเห็นได้ชัดเจนที่สุดและให้ความสำคัญที่สุดเพราะเป็นโซนที่เราจะต้องใช้มันมากที่สุด แต่สิ่งที่ผู้ขับขี่จะต้องทำความเข้าใจสำหรับการมองในโซน B นี้คือ ระยะในการมองที่ผู้ขับขี่จะต้องปรับระดับสายตาในการมองให้ได้ ระยะการมองของโซน B จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1) ระยะไกลหรือระยะที่ห่างจากรถเราประมาณ 20-30 วินาทีข้างหน้าหรือเราอาจเรียกระยะนี้ว่า Target Area Range ทำไมเราต้องมองไกลขนาด 20-30 วินาทีข้างหน้า คำตอบก็คือเพื่อให้ได้ข้อมูลแต่เนิ่นๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับช่องทางเดินรถเรา สิ่งที่เราอาจมองเห็นในระยะนี้ก็เช่น ทางโค้ง เนิน งานก่อสร้างทาง เป็นต้น เพื่อให้เราได้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เพื่อวางแผนเลือกใช้ช่องทางเดินรถหรืออื่นๆ ที่จำเป็น 2) ระยะกลางหรือระยะที่ห่างจากรถเราประมาณ 12-15 วินาทีข้างหน้า ซึ่งระยะนี้เป็นระยะที่ใกล้เข้ามาเพื่อให้เราได้เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์โดยจะต้องมองหาพื้นที่เปิดหรือบริเวณโซน A และ C หากโซน B ปิด (Closed Zone) หรือสถานการณ์เปลี่ยนไป 3)ระยะใกล้หรือระยะที่ห่างจากรถเราประมาณ 4-6 วินาที เป็นระยะที่เราจะต้องทำการควบคุมรถตามข้อมูลที่เราได้จากการมองระยะไกลและระยะกลาง เช่น เปลี่ยนช่องทาง ชะลอความเร็ว หรือเบรค เป็นต้น

ส่วนโซน D E และ F นั้น ผู้ขับขี่ก็ต้องมองเช่นกันเพื่อให้ได้รอบตัว 360 องศาโดยการมองผ่านกระจกมองหลัง กระจกมองข้างทั้งซ้ายและขวาและที่สำคัญต้องมองข้ามไหล่เพื่อที่จะสามารถมองเห็นจุดบอดด้านข้างได้ การมองกระจกนั้นควรมองทุกๆ 8-10 วินาทีเพื่อให้ได้ข้อมูลปัจจุบันที่สุดและต้องไม่จดจ้องมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานเกิน 2 วินาที มิเช่นนั้นแล้วท่านจะพลาดได้ง่ายๆ เพราะสถานการณ์บนท้องถนนนั้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หลายครั้งที่เราขับรถไปเผลอไม่มองกระจกและทันใดก็มีรถวิ่งแซงเราไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นบนท้องถนนไม่มีอะไรที่แน่นอน การมองกระจกอย่างสม่ำเสมอนั้นจึงเป็นทักษะที่ผู้ขับขี่ต้องฝึกฝนให้เป็นนิสัยเพราะกระจกทุกบานเปรียบเสมือนสายตาเรานั่นเอง

ผมขอสรุปกระบวนการ S=Search หรือการมอง (ค้นหา) ที่ผู้ขับขี่ควรฝึกเพื่อให้เกิดทักษะและประสิทธิภาพ ผู้ขับขี่ควรฝึกมองให้เป็นลำดับขั้นดังนี้

  1. ให้มองระยะไกลก่อนแล้ว
  2. มองระยะกลางโดยมองให้กว้างให้ครอบคลุมโซน A และ C การมองกระจกทั้งสองข้างพร้อมประเมินและวิเคราะห์เพื่อเลือกช่องทางเดินรถที่ปลอดภัย
  3. มองกระจกหลังเพื่อประเมินโซน E ซึ่งผู้ขับขี่มองกันน้อยมาก และก่อให้เกิดอุบัติเหตุโดนชนท้าย
  4. มองระยะใกล้และประเมินสถานการณ์ก่อนขับรถผ่านเข้าไปในระยะนี้
  5. ทำตามขั้นตอน 1-4 ซ้ำๆ ตลอดการเดินทาง จนกระทั่งคุณจอดรถอย่างปลอดภัย
ถ้าท่านได้อ่านแล้วลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปลองฝึกดูนะครับได้ผลประการใดสามารถมาแบ่งปันกันได้ครับ โปรดติดตามฉบับหน้าสำหรับขั้นตอน I=Identify หรือวิเคราะห์และอื่นๆ
 
วิเชียร ศรีวงษา
วิทยากรหลักสูตรผู้ขับขี่มือใหม่
Novice Driver Safety Education Instructor
 
เอกสารอ้างอิง
Mind Driving: New Skills for Staying Alive on the Road, Stephen Haley
Driving Right 11th Edition, Pearson

อ่านตอนที่ 2 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=46

อ่านตอนที่ 3 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=55

 

 

บริษัท เซฟ ไดรฟเวอร์ เอดูเคชั่น จำกัด

อาคาร สุพีเรียร์ เลขที่ 220/7-8 ถ.บอนด์สตรีท เมืองทองธานี ต. บางพูด อ. ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ประเทศไทย 11120