กระบวนการขับรถให้ปลอดภัย SIPDE (ตอนจบ)

กระบวนการขับรถให้ปลอดภัย SIPDE (ตอนจบ)

ลากยาวข้ามปีกันเลยทีเดียวนะครับสำหรับการบวนการขับรถให้ปลอดภัย SIPDE ผู้เขียนต้องขออภัยในความล่าช้าเป็นอย่างสูงครับ ฉบับนี้เป็นตอนจบโดยผมจะขอกล่าวถึง 2 กระบวนการสุดท้ายคือ กระบวนการตัดสินใจ (Decide) และกระบวนการปฏิบัติ (Execute) ลองมาดูกันครับว่า 2 กระบวนการสุดท้ายนี้จะสำคัญอย่างไรและผู้ขับขี่ควรถือปฏิบัติอย่างไรให้กระบวนการดำเนินต่อเนื่องไปอย่างสมบูรณ์และผู้ขับขี่ปลอดภัยเป็นเป้าหมายสูงสุด

หลังจากที่ผู้ขับขี่ได้ทำการคาดการณ์ในขั้นตอน P (Predict) กันแล้วข้อมูลนั้นจะถูกส่งต่อมาในขั้นตอนการตัดสินใจ (Decide) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้ทักษะด้านความคิด (Mental Skill) เพื่อให้ผู้ขับขี่ตัดสินใจเพื่อทำการควบคุมรถให้ปลอดภัย กระบวนการตัดสินใจ (Decide) เป็นกระบวนการที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากระบวนการอื่นๆ เพราะถือว่ามันคือกระบวนการชี้เป็นชี้ตายเลยก็ว่าได้ เพราะหากตัดสินใจผิดสิ่งที่จะตามมาก็คือการปฏิบัติที่ผิดซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด ฉะนั้นการตัดสินใจในขั้นตอนนี้จะเป็นการตัดสินใจที่ดีไม่ดีหรือถูกไม่ถูก มันมีผลมาตั้งแต่กระบวนการแรกเลยทีเดียว อีกประการหนึ่งประสบการณ์และบทเรียนจากการขับขี่ก็จะมีผลอย่างยิ่งต่อกระบวนการนี้ ฉะนั้นผู้ขับขี่จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์เข้าช่วยด้วย 


ภาพประกอบจาก http://vividlife.me/ultimate/37901/zen-habits-easier-decision-making-conduct-experiments/
 

การตัดสินใจหลักๆ ที่ผู้เขียนจะพอสามารถอธิบายให้เห็นตัวอย่างชัดเจนพอจะมีดังนี้

  1. การปรับความเร็ว (Speed Change) โดยผู้ขับขี่ต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งกับความเร็วเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ที่เราคาดการณ์ไว้อาจจะเลวร้ายหรือมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการเฉี่ยวชนขึ้น ฉะนั้นผู้ขับขี่จะมองออกว่าจุดที่อาจเกิดการประทะกันกับรถคันอื่นอยู่ที่ไหนและจะต้องหลีกเลี่ยงหรือปฏิบัติอย่างไร การเปลี่ยนแปลงความเร็วไม่จำเป็นต้องลดความเร็วเสมอไปเพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงความเร็วสามารถทำได้โดย
    1. ลดความเร็วเพื่อเพิ่มพื้นที่ความปลอดภัย (Cushion Space) โดยการถอนคันเร่งหรือเบรก
    2. รักษาความเร็วเท่าเดิม (Maintain Speed) โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ความเร็วนั้นต่อไปเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ผู้ขับขี่คันอื่นเพราะหากเราลดความเร็วเขาอาจเข้าใจว่าเราให้ทางแก่เขาซึ่งอาจนำไปสู่การสื่อสารที่ผิด
    3. เบรกและหยุดรถเพื่อหลีกเลี่ยงการชนซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่ผู้ขับขี่ใช้กันเมื่อเห็นว่าสถานการณ์นั้นมีความเสี่ยงสูง
    4. เร่งความเร็ว การเร่งความเร็วบางครั้งไม่ได้ทำให้สถานการณ์แย่เสมอไปเพราะบางครั้งเราเร่งความเร็วเพื่อหนีออกจากจุดที่มีอันตรายมากกว่า เช่น เร่งแซงรถบรรทุกให้พ้นไปโดยเร็ว หรือเร่งหนีจากกลุ่มหรือฝูงรถที่อาจล้ำเข้ามาในรัศมีความปลอดภัยเราเพื่อที่จะจัดการกับระยะความปลอดภัยของเราใหม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นการเปลี่ยนแปลงในความเร็วไม่มีสูตรสำเร็จเพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ขับขี่เป็นสำคัญประกอบกับประสบการณ์
  2. เปลี่ยนตำแหน่งรถ (Change Direction) ผู้ขับขี่จำเป็นต้องตัดสินใจในการเปลี่ยนช่องทางเดินรถหรือตำแหน่งรถหากเห็นว่าสถานการณ์นั้นๆ มีความเสี่ยงสูงและอาจจะเกิดการเฉี่ยวชนกันได้ ฉะนั้นการเปลี่ยนช่องทางเดินรถให้ปลอดภัยนั้นผู้ขับขี่จำเป็นต้องมองให้ไกลในขณะขับขี่เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ แต่เนิ่นๆ อย่างน้อย 15 วินาทีล่วงหน้า
  3. การสื่อสาร (Communication) การสื่อสารระหว่างผู้ขับขี่ด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญมากในการลดความเสี่ยงบนท้องถนน การสื่อสารที่ผู้ขับขี่สามารถนำมาใช้ก็เช่น การให้สัญญาณไฟต่างๆ สัญญาณเสียง ตำแหน่งของรถ การใช้สายตา การให้สัญญาณมือ เป็นต้น ฉะนั้นหากการสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพผู้ขับขี่จะสามารถเข้าใจกันและกันซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนช่องทางเดินรถหรือการปรับความเร็วที่ปลอดภัยมากขึ้น

ผู้ขับขี่พึงระลึกไว้เสมอว่าอันตรายหรือ Hazard บนท้องถนนนั้นบางครั้งเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งผู้ขับขี่ไม่ควรที่จะปฏิบัติตอบโต้กับเหตุการณ์เสี่ยงทั้งหลายนั้นพร้อมๆ กัน ผู้ขับขี่ต้องแยกภาวะอันตราย (Hazard) ต่างๆ ออกจากกันแล้วปฏิบัติหรือตอบโต้กับสถานการณ์นั้นๆ ทีละอย่าง เช่น เรากำลังจะแซงรถมอเตอร์ไซด์ที่อยู่ข้างหน้าบนถนนวิ่งสวนทางที่มีรถอีกคันกำลังวิ่งสวนมา ผู้ขับขี่ต้องแยกอันตรายทั้ง 2 อย่างนี้ออกจากกันระหว่างรถมอเตอร์ไซด์กับรถยนต์คันที่วิ่งสวนมา ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติต่อรถมอเตอร์ไซด์ก่อน โดยลดความเร็วลงไม่แซงรถมอเตอร์ไซด์เพื่อไปหลบกับรถคันที่วิ่งสวนทางมา หลายครั้งในสถานการณ์เช่นนี้ผู้เขียนเองได้เห็นรถหลายคันจะแซงแล้วหลบกับรถคันหน้า ซึ่งโอกาสที่จะเบียดหรือเฉี่ยวกับรถมอเตอร์ไซด์นั้นสูง 

กระบวนการปฏิบัติ (Execute) เป็นกระบวนการต่อเนื่องโดยการนำเอาการตัดสินใจไปปฏิบัติ หรือเรียกง่ายๆ ว่ากระบวนการในการควบคุมรถซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทักษะทางด้านกายภาพ (Physical Skill) ทักษะในการควบคุมรถนั้นที่จริงเป็นทักษะพื้นฐานที่ผู้ขับขี่ได้มีแล้วและในหลักสูตรการฝึกอบรมของเซฟ ไดรฟเวอร์ เอดูเคชั่น ก็ได้สอนเทคนิควิธีการควบคุมรถที่ถูกต้องไว้ละเอียดพอสมควร โดยเฉพาะนักขับขี่มืออาชีพที่มีประสบการณ์แล้วคงไม่ใช่เรื่องยาก

การปฏิบัติหรือควบคุมรถในขั้นตอนนี้นั้นฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายแต่ก็ยังมีจุดบอดอยู่คือ ผู้ขับขี่บางคนไม่ปฏิบัติตามการตัดสินใจของตนเองซึ่งนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด เช่น ผู้ขับขี่ได้ตัดสินใจว่าจะเบรกรถแต่ไม่เบรก ผู้ขับขี่ตัดสินใจว่าจะลดความเร็วแต่ไม่ลด เป็นต้น เพราะคิดว่าสถานการณ์นั้นอาจควบคุมได้ ผู้ขับขี่ควรระลึกไว้เสมอว่าหากเป็นการตัดสินใจที่ดีแล้ว ผ่านกระบวนการ SIPDE ก็ควรปฏิบัติตามที่ตัดสินใจของตนโดยไม่ลังเล 

กระบวนการควบคุมรถก็เช่น ลดหรือชะลอความเร็ว เบรก ให้สัญญาณ/สื่อสาร เปลี่ยนช่องทางหรือปรับตำแหน่งรถ หรือทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่ผู้เขียนอยากฝากเตือนไว้โดยเฉพาะการสื่อสาร ตามหลักแห่งความปลอดภัยแล้วต้องทำแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คนอื่นได้เข้าใจเรา เช่น ให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าอย่างน้อย 4 วินาที ถึงแม้ว่ากฎหมายบ้านเราจะบอกไว้ว่าไม่น้อยกว่า 30 เมตร และหลายครั้งหลายหนผู้ขับขี่ไม่สื่อสารเลยหรือสื่อสารในระยะกระชั้นชิด ลองคิดดูว่า สมมติว่าผู้ขับขี่ให้สัญญาณไฟเลี้ยวในระยะ 30 เมตรก่อนเลี้ยว แต่หากมีรถที่วิ่งตามมาด้วยความเร็วสัก 60 กม/ชม. โอกาสที่รถคันดังกล่าวจะชนท้ายก็มีสูงเพราะที่ความเร็ว 60 กม./ชม. รถคันดังกล่าวต้องใช้ระยะหยุดถึง 36 เมตร ซึ่งไกลกว่าระยะ 30 เมตรเป็นแน่นอน หรือหากคิดเป็นวินาทีก็ประมาณ 3 วินาทีถ้าเบรกแบบฉุกเฉิน (Emergency Brake) ฉะนั้นถ้าผู้ขับขี่ให้สัญญาณอย่างน้อย 4 วินาทีล่วงหน้าผู้ขับขี่รถคันหลังยังพอจะควบคุมรถได้ 

 
แผนภูมิแสดงระยะหยุดรถ


สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการ SIPDE ทั้ง 3 ตอนที่ผมได้เขียนและแบ่งปันไว้นี้จะให้ข้อคิดและมุมมองในการขับรถให้ปลอดภัยแก่ท่านผู้อ่านบ้างและผมเชื่อว่าหากท่านนำกระบวนการนี้ไปปฏิบัติความเสี่ยงของท่านย่อมลดลงอย่างแน่นอน กระบวนการดังกล่าวสำหรับผู้ขับขี่มือใหม่อาจต้องใช้เวลาฝึกฝนบ้างเพราะยังขาดประสบการณ์และอีกทั้งทักษะขั้นพื้นฐานหรือการควบคุมรถก็ยังไม่เก่ง แต่อย่างน้อยก็ให้ลองนำไปฝึกฝนและพยายาม ส่วนนักขับขี่มืออาชีพที่มีประสบการณ์แล้วผมก็ยังเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อยู่พอสมควรเพราะทุกวันนี้ผมก็ใช้กระบวนการนี้ในการขับรถทุกวัน หากมีอะไรที่อยากแบ่งปันหรือเสนอแนะผมขอน้อมรับด้วยความยินดีและปรารถนาให้ท่านใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัยกันทุกคนครับ

วิเชียร ศรีวงษา
วิทยากรและผู้ฝึกสอน
Novice and Advanced Driver Safety Training Instructor

อ่านตอนที่ 1 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=26  

อ่านตอนที่ 2 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=46

 

บริษัท เซฟ ไดรฟเวอร์ เอดูเคชั่น จำกัด

อาคาร สุพีเรียร์ เลขที่ 220/7-8 ถ.บอนด์สตรีท เมืองทองธานี ต. บางพูด อ. ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ประเทศไทย 11120