การเตรียมความพร้อมและหลักปฏิบัติในการขับรถทางไกล_____
เนื่องในช่วงวันหยุดยาวหรือช่วงเทศกาลหลายคนอาจจะมีแผนเดินทางขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือบา...
อ่านต่อ
กลับมาเจอกันอีกครั้งครับหลังจากที่ห่างหายไปนานเพราะงานอบรมของเซฟ ไดรฟเวอร์ฯ รัดตัวอย่างมาก ผมต้องวางแผนหลักสูตรและตารางสอนร่วมกับคณะวิทยากรจนไม่มีเวลาได้มาเขียนบทความเลย ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนเราเป็นอย่างดีเสมอมา ซึ่งเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้เรา เซฟ ไดรฟเวอร์ฯ ยืนหยัดที่จะก้าวต่อไปด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเป็นสถาบันที่ให้ความรู้ด้านการขับขี่คู่กับประเทศไทยของเราต่อไป ขอขอบคุณผู้อ่านที่ตอบรับกลับมาจากบทความฉบับที่ผ่านมาด้วยครับ
เพื่อไม่ให้เสียเวลาในบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงกระบวนการถัดไปที่ต่อจากการมองหรือ Search สัก 2 กระบวนการคือการวิเคราะห์หรือแยกแยะ (Identify) และการคาดการณ์ (Predict)
ภาพประกอบจาก http://www.mathworks.com
กระบวนการวิเคราะห์หรือแยกแยะ (Identify) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ขับขี่ได้ใช้ประสาททางตา Visual Sense ในการมองเพื่อหาข้อมูลรอบตัวขณะขับรถ ฉะนั้นเมื่อผู้ขับขี่ได้ข้อมูลจากการมองมาแล้วก็ต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลแยกแยะว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นอันตราย (Hazard) หรือไม่เป็น โดยธรรมชาติเมื่อเรามองเราย่อมเห็นสิ่งต่างๆ มากมายผ่านทางสายตา ซึ่งแต่ละอย่างจะมีระดับอันตรายต่างกันและบางอย่างอาจจะไม่มีอันตรายสำหรับเราเลย ยกตัวอย่าง เช่น เรามองเห็นต้นไม้กับคนที่ยืนริมถนนในทางข้างหน้า หากเราทำการวิเคราะห์แยกแยะว่าเราควรสนใจอะไรมากกว่าระหว่างต้นไม้กับคน เราก็จะรู้ได้ว่าอะไรคืออันตราย (Hazard) และจะต้องระมัดระวังหรือปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไร ซึ่งเหมือนว่าในขั้นตอนนี้เรากำลังทำการลำดับความสำคัญของสิ่งที่เห็นว่าอะไรสำคัญหรือมีอันตรายมากกว่า เพื่อที่จะทำการโต้ตอบกับสิ่งนั้นได้ทันเวลาและปลอดภัย กระบวนการนี้เป็นขั้นตอนที่ไม่ยากและเข้าใจได้อย่างง่ายดายแต่ผู้ขับขี่จะต้องถือปฏิบัติ เพราะเมื่อไหร่หากคิดว่าสิ่งที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าหรือรอบรถแล้วไม่เป็นอันตรายเลยมันก็จะส่งผลต่อการกระทำหรือการตัดสินใจซึ่งเป็นกระบวนการถัดไปอย่างแน่นอน กระบวนการนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ขับขี่มือใหม่เป็นอย่างยิ่งเพราะยังขาดประสบการณ์ มองไม่ออกว่าอะไรเป็นอันตราย (Hazard)หรืออะไรไม่เป็น ฉะนั้นเทคนิคในการวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นอันตรายและไม่เป็นคือ อะไรก็ตามที่ทำให้ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็ว เปลี่ยนช่องทางเดินรถ เบรค หรือกระทำสิ่งต่างๆ นอกเหนือการควบคุมรถปกติ ยกตัวอย่าง เช่น รถคันหน้าที่ตีไฟเลี่ยวเปลี่ยนช่องทางเดินรถมาเลนของเรา หรือสัญญาณไฟเบรคของรถคันหน้า หรือรถมอเตอร์ไซด์ที่กำลังออกจากซอย คนเดินเท้า หลุมบ่อบนถนน เป็นต้น ถึงแม้ว่ากระบวนการนี้จะทำได้ไม่ยากแต่ผู้ขับขี่จะต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะ โดยเฉพาะผู้ขับขี่มือใหม่เพราะอันตราย (Hazard) บนท้องถนนบ้านเรานั้นเยอะแยะเต็มไปหมด เรียกได้ว่าอยู่รอบตัวเราเลยก็ว่าได้
กระบวนการคาดการณ์ (Predict) เป็นกระบวนการที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งและเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการวิเคราะห์ (Identify) เพราะมันจะมีผลอย่างยิ่งต่อการะบวนการตัดสินใจ (Decide) ซึ่งเป็นกระบวนการถัดไป กระบวนการคาดการณ์ เป็นขั้นตอนที่ผู้ขับขี่นำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์มาทำนายหรือคาดการณ์ต่อไปว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นจะทำอะไรต่อไป ผู้ขับขี่ต้องตั้งคำถามไว้ว่า “มันจะเกิดอะไร ถ้ามันเกิดขึ้น...เราจะทำอย่างไร” เพื่อทำให้ตัวเองมีทางเลือกเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่การคาดดารณ์จะทำได้ยากมากหากสิ่งที่เราเห็นไม่ส่งสัญญาณเตือนใดๆ หรือไม่ให้ข้อมูลใดๆ กับเราเลยและปัจจุบันนักขับขี่จะเจอกับปัญหานี้บ่อยมากเพราะผู้ขับขี่หลายคนไม่ทำให้คนอื่นสามารถคาดการณ์การกระทำของตนได้ เช่น เปลี่ยนช่องทางโดยไม่ให้สัญญาณ ซึ่งเห็นได้บ่อยๆ หรือขับเข้าร่วมทางด้วยความเร็วสูงโดยไม่ชะลอหรือให้ทางแก่รถคันอื่น การคาดการณ์จะทำได้ยากขึ้นหากสถานการณ์มีความซับซ้อน มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และในชีวิตจริงบนถนนก็เป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยไม่ว่าสถานการณ์จะซับซ้อนวุ่นวายแค่ไหนผู้ขับขี่จะต้องทำการคาดการณ์กับเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุดโดยใช้ทักษะการมอง (Search) และการวิเคราะห์แยกแยะ (Identify) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ประเด็นในการคาดการณ์หลักๆ มี 3 ประเด็นคือ
1. คาดการณ์การกระทำของผู้ขับขี่คนอื่นบนถนน (Other road users’ actions)
2. คาดการณ์ว่าเราจะควบคุมรถเราอย่างไรบ้าง (Vehicle Control)
3. คาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเราลงมือปฏิบัติ (Consequence)
ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นกับประเด็นการคาดการณ์ 3 ประเด็นดังนี้ ผู้ขับขี่รถคันหนึ่งกำลังขับรถเข้าสี่แยกซึ่งอยู่ข้างหน้าโดยไม่มีสัญญาณไฟจราจรควบคุม โดยทางเอกตัดกับทางโท และผู้ขับขี่คนนั้นอยู่ในทางเอก ขณะเดียวกันก็มีรถคันหนึ่งวิ่งในทางโทมุ่งหน้ามาที่แยกเช่นเดียวกันและรถสองคันก็มาถึงแยกพร้อมกัน การคาดการ์ของผู้ขับขี่อาจมี 2 กรณีดังนี้
ภาพประกอบจาก http://bosskungstyle.wordpress.com
กรณีที่ 1
1. ผู้ขับขี่คาดการณ์ว่ารถคันที่วิ่งมาในทางโทจะไม่หยุดให้ทางแก่เขา
2. เขาคาดการณ์ว่าเขาควรจะควบคุมรถโดย ชะลอความเร็ว เบรค และหยุดรถ
3. เขาคาดการณ์ว่าเขาจะปลอดภัยเมื่อปฏิบัติตามข้อ 2.
กรณีที่ 2
1. ผู้ขับขี่คาดการณ์ว่ารถคันที่วิ่งในทางโทจะหยุดให้ทางแก่เขาเพราะเขาอยู่ในทางเอก
2. เขาควรขับรถผ่านทางแยกนั้นไปได้เลย
3. เขาจะขับผ่านทางแยกไปด้วยความปลอดภัยเมื่อปฏิบัติตามข้อ 2.
ฉะนั้นประเด็นอยู่ทีการคาดการณ์ของผู้ขับขี่ว่าผู้ขับขี่นั้นจะคาดการณ์เหตุการณ์อย่างไรซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจในการควบคุมรถในที่สุด หากรถในทางโทไม่หยุดให้ทางแก่รถในทางเอกผู้ขับขี่กรณีที่ 2 คงไม่ปลอดภัยตามที่เขาคาดการณ์ไว้อย่างแน่นอนเพราะรถทั้ง 2 คันจะชนกัน และโดยเฉพาะนักขับขี่บ้านเราที่ไม่สนใจใยดีกับกฎจราจรสักเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุตามการคาดการณ์ของผู้ขับขี่กรณีที่ 2 ย่อมมีสูงและมีให้เห็นบ่อยๆ
ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่จะต้องไม่ลืมว่า “ไม่มีผู้ขับขี่ใดบนท้องถนน จะทำตามที่คุณต้องการให้เขาทำเสมอไป” ซึ่งความคิดนี้จะทำให้เราเกิดความระมัดระวังกับอุบัติเหตุมากขึ้นและเป็นทัศนคติที่ผู้ขับขี่พึงมีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากความผิดพลาดของคนอื่น เพราะฉะนั้นนักขับขี่เชิงป้องกันอุบัติเหตุจะคาดการณ์เช่นเดียวกับผู้ขับขี่กรณีที่ 1 ซึ่งจะทำให้เขามีความปลอดภัย 100%
อย่าลืมนำกระบวนการทั้งสองไปฝึกใช้นะครับ ลองเปลี่ยนความคิดเดิมๆ เพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง วิเคราะห์และแยกแยะสิ่งที่เห็นแต่เนิ่นๆ ทำการคาดการณ์กับเหตุการณ์อย่างรอบคอบ นึกถึงผลที่ตามมาจากการกระทำ (Consequence) และประเมินความเสี่ยงให้สูงไว้เสมอเพื่อที่เราจะได้ไม่ประมาทและเป็นการป้องกันอุบัติเหตุจากความผิดพลาดจากผู้อื่นได้ แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
วิเชียร ศรีวงษา
วิทยากรและผู้ฝึกสอน
Novice and Advanced Driver Safety Training Instructor
เอกสารอ้างอิง
Driving Right 11th Edition, Pearson
อ่านตอนที่ 1 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=26
อ่านตอนที่ 3 safedrivereducation.com/th/articles.php?n_id=55