ทำอย่างไร....เมื่อรถคันเร่งค้าง
จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ตกจากลานจอดรถห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านบางกะปิ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิ...
อ่านต่อ
สวัสดีครับช่วงนี้ก็กำลังจะเริ่มเข้าหน้าหนาวกันแล้วนะครับ และย่างเข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปีที่ทุกคนต่างรอคอยอีกทั้งยังเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ดอกไม้สวยๆ สัมผัสกับอากาศหนาวบนดอย แต่เมื่อวันสองวันมานี้ผมอ่านข่าวหนังสือพิมพ์เห็นข่าวรถนักท่องเที่ยวเกิดอุบัติเหตุรถเสียหลักตกเขาบ้าง เบรกแตกบ้าง ด้วยความเป็นห่วงผมจึงอยากจะขอแบ่งปันความรู้และเทคนิคการขับขี่ปลอดภัย เพื่อให้การเดินทางในช่วงฤดูท่องเที่ยวและปีใหม่ของทุกท่านเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยครับ ก่อนอื่นสิ่งสำคัญของนักเดินทางมืออาชีพคือการวางแผนการเดินทาง เพื่อให้เราสามารถใช้เส้นทางได้อย่างถูกต้อง ไม่เสียเวลาและยังปลอดภัยด้วยครับ ในการเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางผู้ขับขี่ต้อง
1. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนการเดินทางไกล ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด
2. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น เอกสาสำคัญต่างๆ ยารักษาโรค เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย ถังดับเพลิง สายพ่วงแบตเตอรี่ สายลากจูงรถ
3. วางแผนเส้นทางที่เราจะไปว่าปลอดภัย สภาพถนนยังใช้การได้ตามปกติ ไม่เสียหายจากฝนที่ผ่านมา โดยตรวจสอบหรือขอข้อมูลจากทางหลวง
ส่วนสำคัญที่ขาดเสียมิได้คือการเตรียมความพร้อมของรถ และส่วนท่านใดมีแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นเขาสูง คดเคี้ยวมาก ก็อย่าลืมตรวจเช็คเรื่องของรถยนต์ที่เราจะนำไปด้วยนะครับว่ามีสมรรถนะเหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่เราจะไปหรือเปล่า วันนี้ผมมีเทคนิคการเช็คและเตรียมความพร้อมของรถแบบง่ายๆ มาแบ่งปันซึ่งเป็นระบบที่ทาง Safe Driver Education ใช้ในการแนะนำผู้ที่เข้ารับการอบรมอยู่เสมอ นั้นก็คือระบบ BEWAGON เรามาดูกันนะครับว่าระบบนี้มันมีอะไรบ้าง และความหมายของตัวอักษรแต่ละตัวคืออะไร ตามผมมาเลยครับ
Brake ตรวจเช็คระบบเบรก น้ำมันคลัชต์ ไม่รั่วซึม เบรกมือ
Electric ตรวจระบบไฟ แบตเตอรี่ ไฟรถ ไฟสัญญาณ หัวเทียน ฟิวส์สำรอง สายพ่วงแบตเตอรี่
Water ระบบน้ำ หม้อน้ำ ท่อทางน้ำ ถังพักน้ำฉีดกระจก
Air ตรวจลมยาง สภาพของยาง เครื่องมืออุปกรณ์เปลี่ยนยาง ยางอะไหล่ กรองอากาศ
Gasoline น้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง
Oil น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเกียร์เฟืองท้าย น้ำมันเพาเวอร์
Noise ระบบเสียง เช่น แตรรถ ทดสอบฟังเสียงผิดปกติต่างๆ
เอาละเมื่อพร้อมแล้วเราก็เริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวกันเลยดีกว่านะครับ.......... Let’s Go…….. !
ถ้าเราต้องขับรถไปในพื้นที่ที่เป็นภูเขาคดเคี้ยวหรือสูงชัน อย่าลืมเทคนิคในเรื่อง การใช้เบรก การใช้คลัตช์ การใช้เกียร์ ให้เหมาะสมกับเส้นทางนั้นๆ ด้วยนะครับ ว่าต้องใช้เกียร์อะไรให้เหมาะสมกับความเร็วและความชันของถนนเส้นนั้น วันนี้ผมจะขอพูดถึงประเด็นเรื่องการใช้เบรกเพราะอ่านข่าวหนังสือพิมพ์แล้วเจอเคสหนึ่งคือรถเบรกไหม้และเบรกไม่อยู่จนทำให้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำได้รับบาดเจ็บ เทคนิคการใช้เบรกที่ถูกต้องในการขับลงจากที่ลาดชันคือเบรกให้เป็นจังหวะควบคู่กับการใช้เกียร์ต่ำ ผู้ขับขี่ไม่ควรเหยียบเบรกแช่ไว้ตลอดเวลา เพราะจะทำให้ระบบเบรกเกิดความร้อนสะสมมากเกินไปจนทำให้เกิดอาการ เฟดเบรก (Fade Brake)
ผมจะอธิบายอาการของ เฟดเบรก ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้นะครับ เฟดเบรก (Fade Brake) คือ ความร้อนของจานเบรกที่สูงเกินไป จานเบรกที่ใช้งานหนักอาจจะเกิดความร้อนสูงกว่า 1,000 องศา จานเบรกอาจเกิดการไหม้แดง เหมือนเหล็กถูกเผาไฟ และเกิดการขยายตัวมาก การระบายความร้อนของจานเบรกไม่ดี ผ้าเบรกที่มีคุณสมบัติในการทนความร้อนต่ำ จะเกิดการลุกไหม้เสียหาย ไม่สามารถจับจานเบรกให้อยู่ได้ รวมถึงน้ำมันเบรกที่คุณสมบัติในการทนความร้อนต่ำ จะทำให้น้ำมันเบรกเดือด เกิดการขยายตัวเป็นฟองอากาศ ทำให้แรงดันไฮโดลิคลดต่ำลง
อาการ เฟดเบรก นี้ ถือเป็นปัญหาของนักซิ่งที่ชอบใช้เบรกแบบรุนแรง เบรกบ่อยๆ ติดต่อกันและรถที่ขับด้วยความเร็วสูง หรือ ขับลงเขาหรือทางลาดชันด้วยความเร็วสูงเกินไปแล้วทำการเบรกแบบต่อเนื่องยาวๆ ไม่ยอมปล่อยเบรกเพื่อให้ระบายความร้อนบ้าง วิธีการง่ายๆ ที่ผู้ขับขี่ควรทำคือเบรกให้เป็นจังหวะ คือกดแป้นเบรกแล้วก็ปล่อยแป้นเบรก ทำแบบนี้สลับไปมาจะช่วยทำให้ระบบเบรกหรือผ้าเบรกกับจานเบรกได้มีโอกาสระบายความร้อนออกจากตัวเองได้ และที่สำคัญนั้นก็คือเกียร์อย่าลืมปรับให้อยู่ในเกียร์ต่ำ ให้เหมาะสมกับความเร็วและความลาดชันของถนนเส้นนั้นๆ ด้วยนะครับ เท่านี้เราก็จะเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยครับ...
ปีใหม่นี้ขอให้ทุกท่านเที่ยวด้วยความสนุกสนาน เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพนะครับ....
นพสิทธิ์ โชคศิริฐานันท์
วิทยากร
เซฟ ไดรฟเวอร์ เอดูเคชั่น